fbpx
Library = New Glam เมื่อทุกโรงแรมหรูต้องมีห้องสมุด!

Library = New Glam เมื่อทุกโรงแรมหรูต้องมีห้องสมุด!

บทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการโปรโมทหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ’

-พูดเอง-

 

ตอนไปนิวยอร์กครั้งล่าสุด ผมมีโอกาสไปห้องสมุดสาธารณะปรับปรุงใหม่ที่สวนสาธารณะไบรอันพาร์ค หลายคนอาจคิดว่าแปลก ไปนิวยอร์กทั้งที ดันไปห้องสมุด!

แต่ด้วยความสัตย์จริง-ไม่ได้มีผมคนเดียวที่คิดแบบนี้ เพราะห้องสมุดที่นี่มีเรื่องราว มีหนังสือหายาก มีชีวิตชีวา ผู้คนในนิวยอร์กเองก็ไป นักท่องเที่ยวเองก็ไปดูสีสันเหล่านั้นอีกที หนังสือ 53 ล้านเล่มทำให้ที่นี่ไม่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ย่อมๆ แห่งหนึ่งเลยทีเดียว ตระการตาตื่นตาตื่นใจมาก

แต่พอกลับมาดูบ้านเรา ธุรกิจหนังสือในสายตาของใครหลายคนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ดูไม่มีเสน่ห์เอาเสียเลย ใครจะซื้อ ใครจะอ่าน และใครจะเก็บในเมื่อทุกตารางนิ้วในคอนโดฯ ของคุณคือราคาที่ต้องจ่าย

ห้องสมุดของนิวยอร์กว่าแปลกแล้ว ร้านหนังสือให้ความตกอกตกใจกว่าอีกขั้น

ถ้าคุณเคยดูหนัง Julie & Julia (2009) จะมีฉากที่จูลี่ (นำแสดงโดยเอมี อดัมส์) ไปเลือกหนังสือที่ร้านชื่อ สแตรนด์ (Strand) ตรงหัวมุมถนน 12 แรงดึงดูดของผมไม่ใช่แค่จากหนัง แต่เป็นความอยากรู้อยากเห็นว่าร้านสแตรนด์ที่เปิดมากว่าร้อยปี อยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางกระแสการหดตัวลงของธุรกิจร้านหนังสือและสิ่งพิมพ์

ร้านสแตรนด์เป็นอภิมหากาพย์ร้านหนังสือ น่าจะติดอันดับร้านขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดลำดับต้นๆ ของโลกบรรยากาศภายในร้านให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการไปเดินซุปเปอร์มาร์เก็ตย่านไชน่าทาวน์ มันเต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่าน ของวางอย่างไม่เป็นระเบียบ พนักงานเข็นรถเข็นหนังสือขวักไขว่แข่งกับลูกค้าที่หอบถุงหนังสือพะรุงพะรัง สแตรนด์ใช้พื้นที่ 5 ชั้นอย่างคุ้มค่า ภายใต้ชั้นหนังสือที่ดูไม่เป็นระเบียบมันถูกแยกแยะหมวดหมู่ไว้อย่างละเอียดยิบ

ที่น่าสนใจก็คือ ในท่ามกลางกระแสที่บอกว่าหนังสือกำลังจะตาย สแตรนด์กลับยังไม่มีทีท่าว่าจะเจ๊งในเร็ววัน

แสดงว่าหนังสือยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจหรือเปล่า

ผมคุยกับพนักงาน ถามหาหนังสือของเอ็ด ราชกา (Edward Rascha ศิลปินแนวป๊อปอาร์ตของอเมริกา) ที่หาไม่เจอ ก็เลยชวนคุย (พนักงานชื่อเอ็ดเวิร์ดเหมือนกันด้วย) ทำให้รู้ว่านอกเหนือจากการเป็นแหล่งรวมหนังสือหลากหลายและมีบริการส่งทั่วโลกแล้ว สแตรนด์ยังมีธุรกิจจัดหาหนังสือทั้งหายากและหนังสือที่ห้องสมุดต้องการ (มหาวิทยาลัยเยลก็ใช้บริการที่นี่) ด้วย

แต่ที่คาดไม่ถึงเลยก็คือ สแตรนด์ยังรับจัดหาหนังสือให้ห้องสมุดในโรงแรมด้วย!

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงร้านหนังสือเล็กๆ ในลอนดอนอีกร้านหนึ่ง คือร้าน เฮย์วู้ดฮิลล์ (Heywood Hill) ในย่านเมย์แฟร์ของลอนดอน ที่นี่เป็นร้านหนังสือหนึ่งห้องแถว แต่อยู่ยงคงกระพันมาร้อยกว่าปี และสร้างบริการใหม่จนเป็นที่เลื่องลือระดับโลก

นั่นคือบริการสร้างห้องสมุด

รายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์บอกว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ โรงแรมระดับห้าดาวหลายๆ แห่งทั่วโลก ตั้งแต่นิวยอร์กจนถึงมัลดีฟส์ อุทิศพื้นที่ที่กว้างขึ้นสำหรับห้องสมุดและหนังสือในโรงแรม

ทำไมต้องเป็นห้องสมุด คุณอาจจะสงสัย?

งานวิจัยการตลาดของ PKF Hospitality Research Trends บอกว่า การเพิ่มบริการในโรงแรมบางอย่างที่ทำให้แขกอยู่ในโรงแรมมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้กับโรงแรมมากขึ้น ทั้งการเพิ่มบาร์บนดาดฟ้า สระว่ายน้ำในที่ร่ม การฉายหนังแบบ on demand ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่โรงแรมระดับหรูหราทุกแห่งต่างพร้อมใจกันทำก็คือ ขยายพื้นที่ห้องสมุดและเติมหนังสือดีๆ เข้าไปในสวนต่างๆ ของโรงแรม เช่นในสวนของล็อบบี้ ร้านกาแฟ เบเกอร์รี่ และส่วนเป็นห้องนั่งเล่นตามมุมต่างๆ ของโรงแรม

ร้านหนังสือเฮย์วู้ดฮิลล์ในอังกฤษนั้น แต่เดิมเริ่มจากขายหนังสือและบริการจัดหาหนังสือให้กับผู้มีอันจะกิน และจัดสรรหนังสือบริจาคให้ห้องสมุดให้กับบรรดาเศรษฐีที่เป็นคนอุปถัมภ์ จนเริ่มให้บริการสร้างห้องสมุดในบ้าน โดยทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ในการคัดเลือกหนังสือให้เข้ากับรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของบ้าน จากการบอกต่อแบบปากต่อปาก ทำให้เฮย์วู้ดฮิลล์มีโอกาสออกแบบห้องสมุดและคัดเลือกหนังสือให้โรงแรมดังๆ หลายแห่ง

ความเจ๋งของเฮย์วู้ดฮิลล์ไม่ได้หาแค่หนังสือ พวกเขามองภาพรวมว่าหนังสือและห้องสมุดคือการสะท้อนรสนิยมของแบรนด์และสนองตอบได้จริงกับแขกที่มาพัก ให้ความสำคัญถึงจังหวะในการจัดชั้นหนังสือให้ดูสวยงาม สันหนังสือต้องสวย หนังสือเก่าและใหม่ปนกันอย่างเป็นธรรมชาติ เว้นที่ให้ของตกแต่งอย่างมีจังหวะ ทั้งหมดผ่านกระบวนการคิดมาเป็นอย่างดี น่าหยิบอ่าน การสร้างบรรยากาศให้แขกเข้าไปใช้บริการล้วนถือเป็นศิลปะของการจัดวางที่ผสานเข้ากับความรู้จริงในเนื้อหาของหนังสือ

หนังสือที่จัดหาให้แต่ละโรงแรมก็แตกต่างกัน มีทั้งหนังสือที่เป็นหนังสือหายาก (เช่น หนังสือปกแข็งของ Visionaire) และหนังสือของนักเขียนท้องถิ่นหรือช่างภาพท้องถิ่นก็มีให้บริการเช่นกัน ห้องสมุดในโรงแรมบูลการีในลอนดอนที่เฮย์วู้ด ฮิลละออกแบบให้ กลายเป็นสถานที่ที่แขกพูดถึงมากกว่าห้องพักเสียอีก แน่นอน

การได้เจอหนังสือเล่มโปรดที่ไม่ได้อ่านมานาน ถือเป็นเรื่องชวนฝันไม่น้อยสำหรับการเดินทางไกลบ้าน

กลับมาที่สแตรนด์ ที่นี่ให้บริการบูติกโฮเทลอย่าง Library Hotel และอีกสองสามโรงแรมในพอร์ตแลนด์และซานฟรานซิสโก และในปัจจุบันก็ไม่ได้มีแต่สแตรนด์แห่งนิวยอร์ก หรือเฮย์วู้ดฮิลล์แห่งลอนดอนเท่านั้นที่ทำธุรกิจนี้ สำนักพิมพ์หลายต่อหลายแห่งที่เริ่มมองเห็นช่องทางนี้ บริษัทสำนักพิมพ์อย่างไซมอนแอนด์ชูสเตอร์ (Simon&Schuster) ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสถานีโทรทัศน์ CBS ก็เริ่มทำธุรกิจให้เช่าหนังสือสำหรับลูกค้าอย่างบริษัทแบล็คเวลกรุ๊ป  (Blackwell Group) ในอังกฤษซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องหนังสือเฉพาะกลุ่มด้วย เลยกลายมาเป็นหนึ่งในคู่แข่งของเฮย์วู้ดฮิลล์ แต่ความเท่ ความลึก หรือบุคลิกในการคัดเลือกหนังสือและสร้างห้องสมุดของแต่ละบริษัทนั้นแตกต่างกัน แล้วแต่กระเป๋าเงิน รสนิยมและวิสัยทัศน์ของโรงแรมแต่ละแบรนด์ที่จะเลือกใช้บริการ

ในยุคที่เราไม่อยากพกหนังสือเล่มหนาไปไหนต่อไหน และสายการบินจำกัดน้ำหนักระเป๋าราวกับพวกเราจะขนหินอ่อนขึ้นเครื่อง ห้องสมุดที่ดีจึงสร้างความประทับใจให้กับแขกได้มาก การจัดหนังสือให้เหมาะสมกับแขกที่มาพักจึงเป็นเรื่องเฉพาะทาง ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านร้านหนังสือมาช่วยดูแล

ห้องสมุดจึงกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งความหรูหรา แบรนด์กำลังใช้ห้องสมุดเป็นตัวสะท้อนรสนิยมของแบรนด์และการอุทิศพื้นที่ให้กับสินค้าที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครเก็บอีกต่อไป

 

และทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้กำลังพูดถึงหอสมุดแห่งเมืองกรุงเทพฯ แต่อย่างใด!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022