fbpx
“ความฝันของม็อบปลดแอกไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ” สมบัติ บุญงามอนงค์

“ความฝันของม็อบปลดแอกไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ” สมบัติ บุญงามอนงค์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

กองบรรณาธิการ ภาพ

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2563 ถูกนับให้เป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของการเมืองไทย เมื่อคนประมาณ 2-3 หมื่นเข้าร่วมชุมนุม flash mob ครั้งใหญ่ในนามของ ‘ประชาชนปลดแอก’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เชื่อมโยงกับสายธารการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นปี

กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ขยายไปถึงโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ที่นักเรียนพร้อมใจกันชูสามนิ้วตอนเคารพธงชาติในหลายโรงเรียน ท่ามกลางการโอบรับจากผู้เห็นด้วยและการต่อต้านจากผู้เห็นต่าง

ในช่วงสำคัญทางการเมืองที่หลายคนบอกว่าเป็นจุดที่ไม่อาจหวนกลับเช่นนี้ 101 ชวน สมบัติ บุญงามอนงค์ นักคิดและนักกิจกรรมทางสังคม ผู้ผ่านการประท้วงท้าทายเผด็จการมาหลายยุคสมัย มาคุยว่าด้วยม็อบของประชาชนปลดแอกและการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาว มองตั้งแต่รูปแบบการชุมนุม การรับมือกับผู้เห็นต่าง เนื้อหาสาระของความหวัง ข้อเรียกร้องและจุดยืนของการประท้วง รวมถึงความฝันของพวกเขา

ในจังหวะที่ต้องระมัดระวังทุกย่างก้าว หัวใจของการเรียกร้องคืออะไร ประชาชนมีสิทธิ์จะฝันได้แค่ไหน และกลางรอยแยกของความขัดแย้งนี้ เราจะสร้างการอภิปรายให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไร

สมบัติ บุญงามอนงค์

คุณมองม็อบใหญ่วันที่ 16 สิงหาคมของกลุ่มประชาชนปลดแอกอย่างไรบ้าง เห็นอะไรที่น่าสนใจไหม

เรื่องที่หนึ่ง ม็อบครั้งนี้เป็นการยกระดับในเชิงปริมาณอีกรอบหนึ่ง คนมาชุมนุมมาก แสดงว่ายังอยู่ในช่วงขาขึ้น หมายความว่ายังจะไปต่อ ยังได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แม้จะมีการโต้เถียงเรื่องข้อเสนอ 10 ข้อก่อนหน้านี้ ซึ่งหลายคนก็กังวลว่าคนจำนวนหนึ่งอาจจะไม่กล้ามา แต่ม็อบก็ใหญ่ขึ้น แสดงว่ายังได้รับการยอมรับ

เรื่องที่สอง ผู้คนที่มาเป็นคนสองเจเนอเรชันชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านี้คนที่มาม็อบเยาวชนปลดแอก ส่วนมากเป็นเยาวชน แต่ครั้งนี้สัดส่วนของเยาวชนกับผู้ใหญ่พอๆ กัน เป็นสัดส่วนที่น่าสนใจ แล้วส่วนใหญ่คนที่มาเป็นชนชั้นกลาง ดังนั้นชนชั้นกลางก็อาจจะขานรับสิ่งนี้ เป็นไปได้ว่าการขยายตัวในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย กับการขยายตัวในหมู่คนชั้นกลางเป็นไปในลักษณะเดียวกัน

เรื่องที่สาม ผมเห็นสตรีตอาร์ต กลุ่มละครหลายกลุ่มที่โดดเข้ามาในนี้ ซึ่งผมคิดว่าดี บนเวทีมีการแสดง ข้างล่างก็มีการแสดง เรื่องนี้สำคัญมากในมุมมองของคนที่สนใจงานศิลปะ นี่เป็นพื้นที่ของคนทำงานศิลปะ ผมคาดหวังว่าครั้งหน้าจะมีการแสดงที่ไม่ได้อยู่แค่บนเวที แต่อยู่บนถนนเลย หรือเปิดตลาดให้คนเอาของมาขายเหมือนถนนคนเดิน ซึ่งจะทำให้การชุมนุมมีความเป็นเทศกาลมากขึ้น ผมคุยกับคนที่เคยร่วมชุมนุมสมัยก่อน ก็มีความขัดเขินอยู่ช่วงม็อบวิ่งแฮมทาโร่ เก้ๆ กังๆ อยู่พอสมควรที่ผู้ใหญ่จะไปม็อบนั้น แต่รอบนี้ดูกลมกลืนมาก มีความรู้สึกร่วม

เรื่องที่สี่ ผมรู้สึกดีที่บนเวทีไม่ต้องใช้ดาวไฮด์ปาร์กเหมือนในอดีต ไม่ต้องเอานักการเมืองหรือผู้จัดรายการวิทยุโทรทัศน์ดังๆ มา ตอนนี้ใครขึ้นพูดก็ไม่รู้เลย บางคนผมก็ยังไม่รู้จักแบคกราวน์เขานะ แต่เริ่มเห็นหน้าบ่อยขึ้น อย่างพิธีกรบนเวทีม็อบนี้ผมก็ชอบมาก เขามีสีสัน แต่ก็อาจจะต้องปรับตัวหน่อยนึง แต่ผมรู้สึกสนุก เขาไม่มีกรอบ

หรือนกสีขาวที่เล่นกัน ผมก็รู้สึกดีมาก ปีนี้เพลงที่เล่นอยู่บนเวทีไม่มีเพลงเพื่อชีวิต ไม่ต้องไปร้อง หงา คาราวาน แอ๊ด คาราบาว แต่ก่อนถ้าคุณจะมีม็อบ ต้องเชิญพวกนี้มา แต่พูดตรงๆ นะ ผมไม่คิดถึงเลย เปลี่ยนยุคไปเลย เอ้าต์ไปแล้ว เหมือนที่เขาแชร์กันว่า BNK ยังดูเพื่อชีวิตกว่า

นอกจากรูปแบบภายนอกที่น่าสนใจแล้ว ถ้าชวนมองลึกลงไปในเนื้อหา ม็อบนี้เป็นที่รวมความหวังของคนที่หลากหลายอย่างไรบ้าง เพราะตอนนี้ไม่ได้มีแค่เด็กที่เข้าร่วมม็อบแล้ว

เนื้อหาหลากหลายมาก มีนักศึกษาตัวแทนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเอ็นจีโอจากพัทลุง แล้วก็มีองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน พื้นที่ควรจะเปิดแบบนี้ คนเสื้อเหลืองเคยเปิดแบบนี้สำเร็จนะ เขาสร้างแนวร่วมได้กว้างมาก เป็นข้อดีมากที่มีการเปิดกว้างบนเวที เสียงที่ไม่เคยได้ยินก็มีที่ยืนมากขึ้น หลายคนก็อยากจะเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนครั้งนี้ เพื่อเอาประเด็นตัวเองเข้าไปร่วมขับเคลื่อนด้วย

กลุ่มนักศึกษามีความพยายามจะเชื่อมสายธารประวัติศาสตร์การเมืองมา เช่น ขอโทษคนเสื้อแดง อ่านกลอนคนเสื้อแดง การออกมาทำแบบนี้สะท้อนอะไรและจะนำไปสู่อะไร

มีบาดแผลทางประวัติศาสตร์การเมืองอยู่ ไม่ว่าจะเป็น 6 ตุลา หรือคนเสื้อแดง เขาถูกปราบ แล้วก็ถูกตีตราว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ พวกเผาบ้านเผาเมือง กว่าจะมีการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ก็ผ่านมา 20 ปีแล้ว เสื้อแดงก็ผ่านมา 10 ปีพอดี จริงๆ เสื้อแดงเขาอมเลือดนะ ไม่ต่างจากคน 6 ตุลา หรอก

แล้วพอเด็กเริ่มศึกษาการเมือง เขาก็เริ่มเห็นร่องรอยในประวัติศาสตร์การต่อสู้ อย่างตอนนั้นมีแฮชแท็กที่เกี่ยวกับ 6 ตุลา ก็ทำให้เขาเริ่มเรียนรู้ หรืออย่างเหตุการณ์ที่ใกล้กว่านั้น เช่น เหตุการณ์พฤษภา 53 ผมอ่านข้อความของเด็กบางคนที่บอกว่าเขาเคยไม่ชอบเสื้อแดง แต่ตอนนี้พอเขาเริ่มศึกษามากขึ้น เขากลับไปฟังคลิปคนเสื้อแดง แล้วพบว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกมาก่อนกาล คิดเหมือนกันเลย แล้วเขาก็รู้สึกถึงความคิดของเขาในอดีต ก็ออกมาขอโทษ

ไม่ต่างกับผม ตอนผมเป็นเด็ก ผมไปเข้าค่ายลูกเสือชาวบ้านนะ กอ.รมน. จัด เราก็เรียนลูกเสือ ตัวเล็กๆ นะ เข้าใจเลย เขาปลูกฝังอะไรแบบนั้น พอโตมาจริงๆ ค่อยเรียนรู้ไปทีละเรื่อง กว่าจะเข้าใจ โอ้โหตายแล้วเรา เด็กตอนนี้ก็เหมือนกัน เขาก็เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจต่อจากม็อบคือ วันรุ่งขึ้นหลายโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศชูสามนิ้วตอนเข้าแถว นี่เป็นเรื่องใหญ่มากในมุมมองของผม เพราะผมเคยตั้งคำถามว่ามันลงไปถึงมัธยมรึเปล่า เป็นเฉพาะเด็กที่ตื่นตัวจริงๆ กลุ่มหนึ่ง หรือว่าเป็น mass ไปทั้งเจเนอเรชัน เป็นไปได้ว่ารุ่นนี้อาจจะเป็นทั้งเจเนอเรชัน ถ้าลงลึกไปถึงมัธยมได้ ผมก็จะบอกว่าขบวนการเยาวชนจะยิ่งใหญ่เหมือนฮ่องกงเลย

ตอนนั้นผมเคยสงสัยว่าอุดมการณ์คนรุ่นใหม่ของฮ่องกงเกิดขึ้นได้อย่างไร ตอนนี้ผมไม่สงสัยนะ เป็นไปได้มากว่ารูปการณ์จะเป็นแบบฮ่องกง

สมบัติ บุญงามอนงค์ ม็อบ ชุมนุม นักศึกษา เยาวชนปลดแอก

มีผู้ใหญ่กลุ่มอนุรักษนิยมหลายคนออกมาบอกว่าเด็กโดนหลอกมา เด็กคิดล้มล้างสถาบัน กลุ่มผู้ประท้วงควรมีวิธีสื่อสารอย่างไรกับคนเหล่านั้นบ้างไหม

ผมคิดว่ายังขาดการพูดคุยกันนะ ตั้งการ์ดกันอยู่ ไม่มีการนำประเด็นที่เด็กนำเสนอมาอภิปราย คนที่กังวลก็ต้องรับฟัง ต้องมีพื้นที่ที่สองฝ่ายคุยกัน เพราะข้อเสนอของเวทีว่าด้วยเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังอยู่ในกรอบนี้อยู่เลย ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านม็อบไม่ได้พูดว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนะ แต่พูดว่าล้มเจ้า ประเด็นของผมก็คือถ้าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำไมถึงเป็นการล้มเจ้าได้ ต้องเถียงกันตรงนี้

ผมยังเชียร์อยู่เลยว่า น่าจะให้หมอเหรียญทอง ดร.เสรี อาจารย์สุวินัย หรือตัวแทนมาคุยกับนักศึกษาที่สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัย หรือสมาคมนักข่าว หรือที่ไหนที่แฟร์พอจะโต้เถียงกัน แล้วค่อยๆ เรียนรู้ว่าประเด็นอยู่ตรงไหน ถ้าคุยกันจนเข้าใจได้ เป็นไปได้นะที่ฝ่ายต่อต้านอาจจะพอยอมรับได้ในบางประเด็น หรือเข้าใจในสิ่งที่เวทีเสนอขึ้นมา

เราจะสร้างการอภิปรายนั้นได้อย่างไร ในเมื่อตอนนี้เกิดความขัดแย้งทางความคิดรุนแรงมาก

ยังเร็วอยู่ ใจเย็นๆ ผมอยากท้าทายนะ ผมจะเริ่มนำเสนอเรื่องพวกนี้ เพราะควรจะมีเวทีแบบสมัยเสื้อแดงกับอภิสิทธิ์ ถ้าตอนนี้วิกฤต คุณต้องทำอย่างไร ก็ต้องคุยเจรจา แต่ก็ต้องมาดูว่าเป็นการเจรจาในห้องปิดหรือห้องเปิด ถ้าเป็นห้องปิดจะสู้สุดฤทธิ์สุดเดช กลายเป็นเวทีต่อสู้ ไม่ใช่เวทีรับฟัง แต่ถ้าประชาชนฟังอยู่ คนก็รับฟังว่าใครให้เหตุผลดีกว่ากัน

คนส่วนใหญ่กังวลว่าข้อเสนอ 10 ข้อ อาจเป็นข้อเรียกร้องที่นำไปสู่การเผชิญหน้า เพราะในสังคมไทยไม่เคยมีใครเสนอข้อเรียกร้องแบบนี้ อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เคยนำเสนออยู่ แต่ไม่สาธารณะขนาดนี้ ครั้งนี้สาธารณะมากนะ แล้วก็มีประเด็นที่เป็นรูปธรรมมากๆ ดังนั้นคนก็ตกอกตกใจ กลัวว่าข้อเรียกร้อง 3 ข้อแรกจะไม่ได้ เช่น ประยุทธ์ยุบสภา หรือแก้รัฐธรรมนูญ แต่โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าประยุทธ์จะอยู่ได้แล้วนะ แต่คนก็มองว่าข้อเสนอ 10 ข้ออาจนำไปสู่ความรุนแรงและทำให้เสียข้อตกลงทั้งหมด

แต่ฝ่ายรัฐก็ยากลำบากมากนะ คือไม่รู้จะเอาอย่างไร เพราะมาตรการที่เขาใช้กับเด็กกลายเป็นยกระดับแนวร่วมทุกครั้งเลย การชุมนุมถ้าทำไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้รับความสนใจขนาดนี้ ไม่ยกระดับขึ้นมาขนาดนี้ แต่เกิดจากมาตรการของรัฐที่เข้าไป เด็กเลยไม่ทน ตอบโต้ ยิ่งรัฐกดดันแรงขึ้น หนักขึ้น เด็กก็เอาคืน เลยเป็นภาวะปิงปองไปปิงปองมา ดังนั้นรัฐอาจจะต้องประเมินว่าการยกระดับของมวลชนที่ขึ้นมาได้อาจจะเกิดจากการกระทำของรัฐ เขาก็ต้องระวังมากๆ

ณ ตอนนี้มีแกนนำหลายกลุ่ม คุณมองว่าการที่จัดแยกประท้วงกันหลายส่วนเป็นปัญหาไหม ควรจะปรับยุทธศาสตร์ให้มุ่งเป็นหนึ่งเดียวกันไหม

รูปการณ์แบบนี้ดีกว่า เขาก็เชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกันระดับหนึ่ง แต่เป็นอิสระ มีกลุ่มก้อนของตัวเองอยู่ มีประเด็นของตัวเองแล้วมาเชื่อมโยงกัน ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นประเด็นใครนำ สถานการณ์ใครนำ เขาก็จะร่วมกัน ผมคิดว่ารูปการณ์แบบนี้ธรรมชาติกว่า สวยงามกว่า และมีประสิทธิภาพกว่า

มีข่าวว่าม็อบประชาชนปลดแอก ปัดข้อเสนอของกลุ่ม มธ. รวมถึงมีความขัดแย้งกันในหมู่คนรุ่นใหม่ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ผมไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ก็ไม่จำเป็นที่แกนนำต้องขึ้นเวทีทุกครั้ง การให้พื้นที่ของคนอื่นๆ ก็ดี แล้วการลดโทนก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนะ การถอย การหลบ การหลีก เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การรบ บางทีหนีก็ยังต้องหนี เป็นหนึ่งในการต่อสู้

คุณเห็นการต่อสู้ เห็นการเคลื่อนไหวมาตลอด คิดว่าม็อบควรจะเดินหน้าไปอย่างไร มีทิศทางที่ต้องระมัดระวังไหม

เขาส่งข้อเรียกร้องไปที่รัฐให้มีการแก้ไขเรื่อง ส.ว. แต่อีกด้านหนึ่งคือการแพร่ไปในแนวระนาบ ผมไม่ได้จดจ่อที่ข้อเสนอข้างบนเท่าไหร่อันนี้คือธรรมชาติ แต่การแพร่กระจายในแนวระนาบน่าสนใจมาก ผมสนใจปรากฏการณ์ในโรงเรียน ผมนั่งมอนิเตอร์ความคิดเขา ดูปรากฏการณ์ว่าเขาขยับตัวกันอย่างไร นี่คือราคาสูงสุดเลย ต่อให้ไม่สำเร็จในข้อเรียกร้องนะ แต่คุณูปการที่ลามไปในโรงเรียนได้ ผมชื่นใจแล้ว

แล้วผมรู้ว่าเด็กพวกนี้จะเติบโตก้าวหน้าต่อ ถ้าไม่สำเร็จยกนี้ เด็กมัธยมรุ่นนี้เมื่อเขาเริ่มเข้าสู่มหาวิทยาลัย เขาจะเป็นทัพหน้าใหม่ เราจะไม่สูญเสียการก่อเกิดคนรุ่นใหม่ที่จะนำการต่อสู้ ไม่มีทาง จะแข็งแรงมาก ผมมีความหวังมากนะ

สมบัติ บุญงามอนงค์

ในขณะที่ม็อบเด็กๆ ก็เคลื่อนไหวไป แต่ในหมู่นักวิชาการก็มีการถกเถียงกันอยู่เรื่องจุดยืนและท่าทีในการเรียกร้อง เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกมาวิจารณ์ปิยบุตร แสงกนกกุล ผ่านทางสเตตัสเฟซบุ๊ก คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ผมไม่สนใจเลย ก่อนหน้านี้ถ้าสองคนนี้พูดอะไร ผมต้องตามนะ แต่ชั่วโมงนี้การนำอยู่ที่เด็กแล้ว คือเมื่อก่อนที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหว สองคนนี้มีน้ำหนักมาก น่าสนใจ แต่ชั่วโมงนี้ไม่มี ลดไปเยอะมาก

ผมพูดตรงๆ นะ อานนท์ นำภา ยิ่งกว่าสมศักดิ์อีก อิทธิพลของเขาตอนนี้สูงมากเลย สิ่งที่เขาพูดแหลมคมมากนะ เรียลจนไม่รู้จะเรียลยังไง เพราะเขายืนอยู่บนเวทีในประเทศไทย น้ำหนักของเขาหนักแน่นยิ่งกว่าสมศักดิ์ไม่รู้กี่เท่า ผมไม่ได้จะลดทอนอาจารย์สมศักดิ์ ปิยบุตร หรือธนาธรนะ แต่เกมตอนนี้อยู่ที่เด็ก คนเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ที่ยืนอยู่ข้างๆ ไม่ใช่ผู้นำเลย บางคนอาจจะให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์นี้อยู่ แต่ฝ่ายซ้ายก็เป็นแบบนี้ เป็นธรรมชาติที่เขาจะวิพากษ์กัน

ตอนนี้จะมีลักษณะการช่วยเหลือกันในต่างหน้าที่ทั้งในฝั่งมวลชนและในสภา คุณมองว่าจำเป็นแค่ไหนที่ต้องช่วยกันในแต่ละหน้าที่ของตัวเอง

สำคัญมาก ไม่มีใครที่สามารถจัดตั้งองค์กรได้แข็งแกร่งแบบนั้น ยิ่งเด็กยิ่งไม่มีประสิทธิภาพขนาดนั้น เราต้องช่วยกันจริงๆ อย่างซีเรียสเลย ช่วยในแบบที่สามารถช่วยได้ เช่น ถ้าคุณเป็นนักดนตรีก็ขึ้นเวที ถ้าคุณเป็นออแกไนเซอร์ มีบริษัทโฆษณา ก็ไปช่วยเขาออกแบบหรือจัดหาอุปกรณ์ คุณทำร้านอาหารก็ทำอาหารมาแจก ถ้าคุณมีกำลังพล คุณอาจจะไปดูแลเรื่องความสะอาดในม็อบ ดูหลังม็อบเป็นอย่างไรบ้าง หรือไปดูเรื่องจราจร เห็นจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในแต่ละที่ต้องทำอย่างไร รวมถึงการที่ ส.ส. ไปช่วยประกันตัวแบบนี้ก็ดีนะ

แล้วที่อยากให้ดูมากที่สุดคือกลุ่มพันธมิตร สันติอโศก เขาสุดยอดจริงๆ ผมนับถือมากนะเรื่องการจัดการ เขามีกองกำลังของเขา อย่างน้อยก็หลักร้อยคนในแต่ละม็อบ แล้วพวกนี้เป็นมดงาน ทำงานอย่างเดียว มีทีมงานจัดการพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก แต่เราไม่มีการจัดตั้งว่าใครจะทำหน้าที่อะไร

หลายคนเรียกร้องให้ ส.ส. เอาข้อเรียกร้องของนักศึกษาไปพูดในสภา คุณคิดว่าจำเป็นแค่ไหน

ถ้าพรรคไหนพร้อมจะกราบเลย เรียกร้องได้แต่ต้องใจเย็นๆ นะ ต้องคำนวณหลายเรื่อง แล้วก็ต้องรอกระแสสูงพอสมควร พอกระแสสูงแล้ว แย่งกันเลย เหมือนที่ตอนนี้ทุกพรรคแย่งกันออกไปประกันตัว อีกสักพักพอกระแสสูงกว่านี้ จะมีนักร้อง ศิลปินป็อปๆ ขึ้นเวที มากันพรึบ

กระแสจะสูงขึ้นกว่านี้ได้อีกแค่ไหน

กระแสจะสูงกว่านี้ได้อีกถ้ามีความชอบธรรม แต่ต้องรักษาความชอบธรรมนะ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สุด เพราะฝ่ายตรงข้ามจะทำลายความชอบธรรมของม็อบ จริงๆ การมีคนจำนวนหนึ่งจะปราบคนหนึ่ง คงไม่ยากนักหรอก สำหรับรัฐนะ แต่เขาประเมินว่าการทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้สถานการณ์ลุกลาม ดังนั้นเขาจึงต้องทำลายความชอบธรรมให้ได้ ต้องหาให้เจอว่าจะทำลายความชอบธรรมได้อย่างไร

ตอนนี้ความชอบธรรมของม็อบนักศึกษา คือเรื่องประยุทธ์นั่นแหละ เรื่องความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น พูดอะไรมาก็โดนหมดแหละ ประยุทธ์คือความสมบูรณ์แบบที่จะเป็นเป้าให้เด็ก น่วมมาก เป็นกระสอบทรายเลย การมีประยุทธ์อยู่ โยนก้อนหินใส่ยังไงก็โดนน่ะ

แม้แต่คนที่เชียร์ประยุทธ์เองก็ไม่รู้จะเถียงยังไงเหมือนกัน?

ใช่ แล้วเถียงยังไงน่ะ เขาไม่สามารถกำหนดทิศทางกระแสได้ เพราะกระแสโซเชียลฯ นำสื่อใหญ่ คนดูทีวีก็มีอยู่ แต่น้อยลงเรื่อยๆ ตอนนี้ในออนไลน์นำจนสื่อหลักต้องตาม ในทวิตเตอร์กำหนดเทรนด์ แล้วเด็กแอ็กทีฟมาก

เด็กในทวิตเตอร์ไม่เหมือนเฟซบุ๊กอย่างหนึ่ง คนเขียนเฟซบุ๊กไม่กี่สเตตัสต่อวัน แต่ทวิตเตอร์ไม่ใช่ แรงมาก เด็กบ่นออกมาบางทีเหมือนปืนกลเลย แล้วแฮชแท็กข้ามกัน การติดแท็กเป็นม็อบอย่างหนึ่ง คุณไปดู #ประชาชนปลดแอก #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ผมเห็นเป็นม็อบนะ รวมคนไปหมดเลย

แต่ก็ยังมีกลุ่มที่คิดตรงข้ามกับเด็ก เข้าไปตามคอมเม้นต์ต่อต้านเยอะมาก จะสื่อสารกับคนกลุ่มนั้นด้วยท่าทีอย่างไร

เป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมชาติ เราควรมีท่าทีในการถกเถียง พูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผล ต่อให้เขาไม่คุย แต่ผมคิดว่า เราจะได้คนที่เข้ามาอ่าน ถ้าเรามีเหตุผลที่ดีกว่า แล้วเราก็มีความจำเป็นต้องฟังคนที่ไม่เห็นด้วย พอเราคุยกันเองก็คิดว่านี่คือทั้งหมด แต่ในโลกความจริงมีคนไม่เห็นด้วยกับเราเยอะ อย่างน้อยที่สุดเราควรจะรู้ว่าทำไมเขาไม่เห็นด้วยกับเรา

เวลามีคนมาคอมเม้นต์แย้งผม ผมก็เลือกที่จะอธิบาย ถ้าไม่ใช่การแย้งที่งี่เง่าเกินไป อีกด้านหนึ่งก็เป็นความบันเทิงส่วนตัวผมนะ ถ้าเป็นพวกเดียวกันผมก็จะมองผ่านๆ ไป แต่ถ้ามีคนมาแย้ง ผมจะสนุก ต่อให้โมโหก็ยังสนุก

ณ ตอนนี้ฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพูด คุณคิดว่าควรจะมีข้อความเนื้อหาหลักเพื่อทำให้พลังการต่อสู้เข้มแข็งขึ้นไหม

ไดนามิกได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนมาพูดเรื่องที่ตัวเองไม่สนใจ หรือไปศึกษาเรื่องที่ตัวเองคิดว่าไม่สำคัญ แต่ภาพรวมคนจะลากกันไปเอง

ผมยังไม่เห็นว่าเสียศูนย์อะไรนะ อยู่ในเฟรมที่โอเค เป็นสีสัน ถ้าไม่มีประเด็นใหม่ๆ ให้ถกเถียง ให้ติดตาม ก็ไม่สนุก ก็อยู่เฉยๆ อย่างนั้นน่ะ กระแสอาศัยเรื่องพวกนี้เป็นลมใต้ปีกให้กระแสปลิวว่อน ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว เรื่องธรรมดามากเลย

ความฝันของม็อบที่อยากให้มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง คุณคิดว่าความฝันเรื่องนี้น่าจะเป็นไปได้แค่ไหน

เป็นไปได้ ในโลกความเป็นจริง คนที่กล้าคิดเขาไปไกลกว่านี้มากแล้ว ที่เราอยากมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว สิ่งที่แตกต่างจากนี้เป็นเรื่องที่ฝืนมาก แต่จะเร็วจะช้า มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ก็อีกเรื่องหนึ่ง

มนุษย์ฝันไกลนะ ถึงขนาดฝันไปดาวอังคารกันแล้ว ความฝันของมนุษย์พลังเหลือล้น เพราะฉะนั้นแค่ต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นความฝันที่ไม่เพ้อเจ้อ ไม่เกินเลย สอดคล้องกับยุคสมัย และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย นี่คือดุลยภาพที่ดีมากกับทุกฝ่าย ทำไมถึงจะเป็นไปไม่ได้

แล้วควรมีการระวังท่าที หรือระวังการเคลื่อนไหวแบบไหนของม็อบบ้างไหม ที่อาจจะทำให้ไปไม่ถึงฝัน

การทำลายแนวร่วม อย่างที่ม็อบฮ่องกงมีปัญหามากคือ ช่วงหนึ่งที่ม็อบทะเลาะกับคนแก่แล้วตีกัน ม็อบต้องห้ามลงไม้ลงมือกับผู้ใหญ่ ต้องอดทน หลบเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เราต้องขยายแนวร่วมจนสูงสุดก่อน หรือแม้แต่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ เป็นกลุ่มที่เราข้ามไปไม่ได้ ยังไม่มีการขยับตัวในกลุ่มแบบนี้

ผมว่ามีตำรวจที่ไม่เห็นด้วยกับทหารเยอะมากเลย มั่นใจว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แต่เรายังไม่ทำแนวร่วม หรือแม้แต่ทหารชั้นผู้น้อย เราไม่ได้เป็นคู่กรณีกับทหารนะ เราเป็นคู่กรณีกับพวกนายทหารบางคนที่มีอำนาจเท่านั้นเอง ทหารเป็นแนวร่วมได้นะ เราต้องพูดถึงเขา เข้าใจเขา หรือมีตัวแทนของเขามาพูด หัวใจจริงๆ ของม็อบคือทำแนวร่วม ต้องทำให้ได้

แล้วถ้าคนที่คิดไม่เหมือนกันเลย เราจะสามารถโอบรับกลุ่มคนเหล่านั้นเข้ามาได้อย่างไร

ไม่ต้องโอบรับ ไม่มาก็ไม่มา แต่ก็ต้องเถียงกันให้ต่างคนต่างเข้าใจ ว่าจริงๆ เป็นเจตนารมณ์ที่อยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น ไม่ได้ชังชาติ หรือทำลายชาติหรอก เป็นการพัฒนาประเทศชาติ เพียงแต่วิธีการต่างกัน

วันก่อนผมก็นั่งฟังคนที่ใส่เสื้อเหลืองมา ผมก็ไม่ได้คิดว่าเขาต้องการทำลายชาตินะ เขาแค่มีภาพของชาติอีกแบบหนึ่ง แต่เขาไม่มีขีดความสามารถในการรับรู้หรือเข้าใจแบบกว้างเท่านั้นเอง

เราต้องสร้างบทสนทนากัน ต้องมีท่าทีที่ไม่ใช่การเผชิญหน้า ต้องใช้เวลากว่าเขาจะเปิดใจ น้องๆ หลายคนก็ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเปิดใจรับรู้ คนที่เป่านกหวีดจำนวนหนึ่งก็ไม่น้อยนะ ประยุทธ์ต้องอยู่ถึง 6 ปี ถึงจะยอมเข้าใจว่าผิดพลาด เวลาก็สำคัญ

เรื่องของเจเนอเรชันมีส่วนด้วยไหม 

ใช่ๆ เพราะฉะนั้นเป็นภาระของคนที่อยู่ในวัยเดียวกัน อยู่ในวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ผมมั่นใจว่าคนอายุเท่าผมจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับเด็กๆ ก็เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องอธิบายคนในวัยเดียวกัน ภาษาที่เราใช้ เหตุการณ์ เนื้อหา วิธีการโต้เถียง อยู่ในระดับที่พอจะเข้าใจกันได้ ถ้าเราไปคาดหวังว่าเด็กจะไปพูดให้ผู้ใหญ่เข้าใจ อาจจะยากแล้ว อาจจะต้องมีตัวกลางคอยย่อย ผมเห็นผู้ใหญ่หลายคนพยายามทำหน้าที่นี้อยู่

อะไรคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้การเคลื่อนไหวนี้สำเร็จ

แนวร่วม ต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าฉันทามติของสังคมไทยให้ได้ ฉันทามติเกิดได้ไม่ใช่แค่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องไปถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ นี่คือกุญแจสำคัญ ผมดูปฏิกิริยาของรัฐว่าตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอย่างไรน้อยมาก เพราะปฏิกิริยาของสังคมที่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่างหากที่เป็นตัวชี้วัด เมื่อสังคมมีฉันทามติแล้ว ใดๆ ก็ไม่สามารถฝืนฉันทามติของสังคมได้ ดังนั้นสนามรบนี้คือสงครามแย่งชิงมวลชน

สมบัติ บุญงามอนงค์ ประชาธิปไตย ชุมนุม เยาวชนปลดแอก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save