fbpx
นินทา ‘ปารีส’ กับ สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์: แฟชั่นและศิลปะในเมืองคนหยิ่ง

นินทา ‘ปารีส’ กับ สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์: แฟชั่นและศิลปะในเมืองคนหยิ่ง

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

 

ปารีสถูกจดจำจากความรุ่มรวยทางศิลปะและความสวยงามในฐานะเมืองท่องเที่ยว แต่ในสายตาของ สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์ ที่อยู่ปารีสมา 17 ปี เมืองแฟชั่นแห่งนี้มีดีกว่าภาพจำในโบรชัวร์ท่องเที่ยว โดยเฉพาะนิสัยใจคอและวิธีคิดของคนฝรั่งเศส

ถ้าจะพูดให้ถูกต้อง สุภาพิมพ์ คลุกคลีกับประเทศฝรั่งเศสมาเกือบทั้งชีวิต เธอจบปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสาขาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน แล้วได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนอนุปริญญาด้านภาษาที่เมืองนีซ 2 ปี ก่อนจะกลับมาทำงานฝ่ายข่าวสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยถึง 30 ปี

ระหว่างทำงานสถานทูต สุภาพิมพ์เขียนคอลัมน์เรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวฝรั่งเศสที่เธอมีข้อมูลข่าวสารอยู่แล้วในฐานะฝ่ายข่าว และยังเขียนคอลัมน์บันเทิง คนดัง แฟชั่น ให้นิตยสารหลายหัว นิตยสารที่เขียนให้ยาวนานจนเป็นที่รู้จักของนักอ่านคือ สกุลไทย และเคยมีผลงานรวมเล่มเรื่องฝรั่งเศสหลายเล่ม

ชีวิตและการทำงานของสุภาพิมพ์เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสตลอดมา จนเธอแต่งงานและย้ายมาอยู่ที่ปารีสเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ปัจจุบันยังคงเขียนคอลัมน์ให้นิตยสารผู้จัดการ และเขียนเรื่องราวฝรั่งเศสที่พบเจอในชีวิตประจำวัน แฟชั่น ภาพยนตร์ และเพลง ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สุภาพิมพ์

ระหว่างการพบเจอกัน สุภาพิมพ์มักจะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องประวัติศาสตร์ สถานที่ บุคคลสำคัญ อาหาร เพลง และแฟชั่น มาเล่าให้ฟังไม่รู้จบ ทุกถนนมีประวัติศาสตร์ แทบทุกซอกมุมประทับไว้ด้วยชีวิตของนักเขียน ศิลปิน และบุคคลสำคัญในอดีต เสมือนเรื่องราวของเมืองแห่งนี้ไหลเวียนอยู่ในตัวเธอและพร้อมจะแบ่งปันให้คนที่สนใจได้รับฟังเสมอ

ปารีสไม่ได้มีแต่ภาพสวยงาม โดยเฉพาะปีหลังๆ นี้ที่มีทั้งการก่อการร้าย ค่าครองชีพสูง ความสกปรก คนไร้บ้าน มิจฉาชีพ การประท้วงที่ถูกผสมโรง หลากปัญหาเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ลดทอนความรื่นรมย์ที่หล่อเลี้ยงเมืองนี้ไว้ สุภาพิมพ์มองปารีสอย่างที่เห็น ทั้งดีและร้าย แต่ที่น่าจดจำคือมุมน่ารักของผู้คนและเมืองนี้ ซึ่งทำให้อดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ถึงความแตกต่างของการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ กับการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ฉุดรั้งการพัฒนาชีวิต

 

 

หลังเรียนจบคุณสุภาพิมพ์ก็ทำงานฝ่ายข่าวที่สถานทูตและทำต่อเนื่องมา 30 ปี ฟังดูเป็นงานที่น่าสนใจ

เรียนจบแล้วสถานทูตฝรั่งเศสเปิดรับสมัครฝ่ายข่าวพอดี แรกๆ เขาก็ให้อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ มี Bangkok Post, Bangkok world, The Nation แล้วตัดข่าวที่คิดว่าน่าสนใจ เผื่อนักการทูตจะทำรายงานเกี่ยวกับประเทศไทยด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ ก็จะให้เราจัดเอกสารให้ตามคู่มือของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส จากนั้น 2 ปี เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทยแล้วสรุปข่าวเป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงความรู้ได้ดีที่สุด ได้ลงมือเขียนจริง รู้ศัพท์การเมืองหรือสำนวนที่ตอนเรียนไม่เคยรู้ นายแต่ละคนก็แตกต่างกัน บางคนแก้ไวยากรณ์ให้ บางคนก็รีไรท์ใหม่ ได้เรียนรู้จากนายแต่ละคนจนคิดว่าน่าจะเป็นคนที่เขียนภาษาฝรั่งเศสได้ค่อนข้างดีคนหนึ่ง แต่พอมาอยู่ฝรั่งเศส 17 ปีไม่ได้ใช้เลย (หัวเราะ)

งานฝ่ายข่าวสนุกตรงที่มันเป็นการเมือง อ่านหนังสือพิมพ์วันละสิบฉบับ รายสัปดาห์อีกสามฉบับ อย่างน้อยก็น่าจะรู้มากกว่าคนที่อ่านแค่ฉบับเดียว ช่วงนั้นการเมืองไทยไม่ซับซ้อนแบบนี้ ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ทักษิณมาก็แข่งกันเชิงนโยบาย สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดคือพอมีการปฏิวัติรัฐประหารจะต้องเอาวิทยุออกมาตั้งหนึ่งเครื่อง โทรทัศน์อีกหนึ่งเครื่อง ฟังแถลงการณ์ทางวิทยุเสร็จต้องนั่งแปลและพิมพ์เดี๋ยวนั้น ส่งขึ้นไป แล้วก็มานั่งดูทีวี เดี๋ยวมีข่าวเรื่องโน้นเรื่องนี้ มันสนุกและตื่นเต้น แต่หลังจากนั้นจะหมดแรง แล้วพอเราอยู่นานเข้าก็มักจะรู้มากกว่านักการทูตที่เพิ่งเข้ามา

ตอน 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาถูกจับขึ้นศาลทหารที่มี สุธรรม แสงประทุม อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ช่วงนั้นแวดวงต่างประเทศแรงมาก อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขอลี้ภัย สำนักข่าวต่างประเทศก็ตีแผ่ความจริงให้ชาวโลกรู้ ภาพทารุณกรรมนักศึกษาต่างๆ ซึ่งคนไทยไม่ได้เห็น แต่ต่างประเทศเห็น สถานทูตต่างๆ เข้ามากดดันรัฐบาล แล้วเขาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูตเข้าไปฟังการพิจารณาคดีในศาลทหาร มีเลขานุการโทคนหนึ่งเรียกให้เราไปเป็นล่าม ทำให้ได้เห็นพวกเด็กๆ ถูกล่ามโซ่เดินกันออกมา ตอนนั้นชื่นชมสุธรรมมากเพราะเป็นคนฉะฉาน แถลงค้านต่อพิพากษาศาลทหาร ไปอยู่ 2-3 ครั้งพวกเขาก็ได้รับการปล่อยตัว เป็นประสบการณ์ที่คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่มี

 

มีการทำงานกับทูตคนไหนที่จดจำได้ดีไหม

ช่วงก่อนลาออกได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านทูต Gerard Costes ซึ่งตอนนี้เกษียณแล้วแต่ยังอยู่เมืองไทย ทูตคนนี้เป็นจิตรกร อารมณ์อาร์ตติสต์มาก ทุกคนกลัวหมดเลย ต้องถามเลขาฯ ตลอดว่าวันนี้ทูตเป็นยังไงบ้าง ตอนนั้นช่องเคเบิล IBC เสียบ่อย ทูตบอกให้พี่คนหนึ่งจัดการให้ก็ไม่ได้ เสียทีก็ต้องไปเข้าคิวกว่าจะมาแก้ก็ 2-3 วัน เป็นอยู่หลายหนจนนายบอกว่า สุภาพิมพ์ เธอไปจัดการ ก็ได้เบอร์ช่างเทคนิคคนหนึ่งที่อยู่ใกล้สถานทูต โทรไปให้เขาแวะมาดูให้ตอนเย็น แล้วก็เขียนโน้ตถึงท่านทูตอธิบายขั้นตอนติดต่อช่าง พอเลิกงานกลับถึงบ้าน เลขาฯ ทูตโทรมาบอกว่า ทูตผิดหวังมากที่เธอไม่อยู่ดูการซ่อมแซม เราตาลีตาเหลือกโทรไปหาช่าง เขาอธิบายว่าไม่มีอะไหล่ เดี๋ยวมาเปลี่ยนให้พรุ่งนี้แต่เช้า เราจึงโทรไปบอกเลขาฯ ทูต

เกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายหน เราชอบเขียนโน้ตขึ้นไปให้ทูต พอมีอะไรทูตก็เลยเรียกใช้ จนมีครั้งหนึ่งมีคนมาสถานทูตแล้วเราอยากกระทบไหล่เขา ก็ทำใจกล้าเข้าไปบอกท่านทูตว่าอยากไปงานนี้จังเลย ทูตบอกว่าถ้าทูตเชิญต้องถือเป็น obligation ไม่มาไม่ได้นะ แล้วตั้งแต่นั้นมาทูตเชิญทุกงาน กลับบ้านเที่ยงคืน ตีห้าต้องรีบตื่นออกจากบ้าน ตาเป็นแพนด้าเลย แต่ว่าสนุก

 

เริ่มเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับวัฒนธรรมฝรั่งเศส-แฟชั่น ตั้งแต่เมื่อไหร่

นานแล้วนะ ตอนแรกเขียนให้นิตยสารในเครือแพรวเกี่ยวกับบันทึกคนดัง ดารา เจ้าหญิงเจ้าชาย เริ่มจากที่เวลาเราเห็นนักเขียนเขาแปลผิดก็จะโทรไปบอก สุภาวดี โกมารทัต ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ท้วงหลายทีจนเพื่อนบอกว่างั้นเธอเขียนให้ฉันแล้วกัน เลยได้เขียนที่นั่นประมาณ 10 ปี จากนั้นก็เขียนให้ ลลนา แนวหน้า แล้วเราอยู่ใกล้ข่าวสารฝรั่งเศส มีหนังสือ นิตยสารกระทรวงต่างประเทศส่งมา มีเรื่องน่าสนใจก็แปลสรุปส่งไปลงมติชนรายวัน ตอนนั้นไม่รู้จักใครเลย ส่งไปเขาก็ลงให้ เวลาเลือกตั้งประธานาธิบดีก็เขียนส่งไป

ส่วนสกุลไทยเขียนอยู่ 20-30 ปี ตอนนั้นคุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล) ที่เป็นเพื่อนอักษรรุ่นเดียวกัน แนะนำให้โทรไปหา อ.สุภัทร สวัสดิรักษ์ บก.สกุลไทย เขาถามว่าเคยเขียนอะไรบ้าง ก็บอกว่าเขียนเรื่องนักการเมือง คนดัง แฟชั่น แฟชั่นในความหมายนี้คือเราได้ข้อมูลจากฝรั่งเศส เขาส่งข่าวกับรูปมาว่าคอลเลกชั่นปีนี้เป็นยังไง เรามีหน้าที่ส่งต่อให้ อ.สมศรี สุกุมลนันทน์ ซึ่งเป็นกูรูคอลัมน์แฟชั่นของสตรีสาร ตอนหลังสตรีสารไม่มีแล้ว อ.สมศรีก็ไม่ได้เขียน อ.สุภัทรเลยให้เราเขียนเรื่องแฟชั่น ชื่อคอลัมน์ บุคลิกภาพ มุมมองแฟชั่นและการแต่งกาย แต่ต้องส่งมาให้ 10 ตอนถึงจะเริ่มลง ประสาทจับเลย ลาพักร้อนสองสัปดาห์แล้วเริ่มลงมือเขียน ปรากฏว่าคลังความรู้มันอยู่ในหัว พอเขียนแล้วมันก็ออกมาเลย เราไม่ได้เขียนแค่คอลัมน์แฟชั่นแต่วิจารณ์สังคมด้วย เช่นเขียนว่าไม่จำเป็นต้องใช้แบรนด์เนมหรอก ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไปขวนขวาย ถือแล้วไม่ได้ประโยชน์ แล้วของปลอมก็ไม่ต้องไปใช้ มันไร้ศักดิ์ศรี ปรากฏว่าถูกใจคนอ่าน มีผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมโทรไปชม ตั้งแต่นั้นก็ติดลม เขียนถึงสินค้าตัวไหนคนอ่านก็แห่กันไปซื้อ

ครั้งหนึ่งเขียนถึงร้านเครื่องเงินข้างที่ทำงาน คนขายบอกว่าวงหนึ่งเลียนแบบ Cartier อีกวงเลียนแบบ Harry Winston คนอ่านก็โทรไปถามว่าร้านที่คุณสุภาพิมพ์พูดถึงอยู่ตรงไหนแล้วไปซื้อกัน จากนั้นเราเขียนถึงกระเป๋า Kipling ว่าสีมันหวานน่ารัก แต่คุณหญิงคุณนายตีผมโป่ง แต่งหน้าจัด สวมเครื่องเพชรใส่ผ้าไทยแล้วถือกระเป๋าลิงมันไม่เข้ากัน เจ้าของ Kipling เขาก็โทรมาเชิญกินข้าว พอคุยกันถูกใจ เขาบอกว่า พี่รู้เปล่า พี่เขียนถึงแหวนคาร์เทียร์ เขาขายดีเลยนะ เราบอกว่ารู้ เขาส่งคนขับรถไปซื้อกันที่ร้านข้างที่ทำงานเรา เขาบอกไม่ใช่ คุณหญิงคุณนายไปซื้อแหวนคาร์เทียร์ของจริงกันเพียบเลย เราตกใจนะ โอ้โหอย่างนั้นเลยเหรอ

 

ทุกวันนี้นอกจากนิตยสารผู้จัดการก็ยังเขียนลงเพจของตัวเองสม่ำเสมอ

มาเขียนเพจบางทีก็เอางานเขียนเก่ามาลง คนอ่านก็ชอบ อาจเพราะได้ลงรูปสวยๆ เต็มที่กว่าตอนพิมพ์ในหนังสือ ช่วงหนึ่งเขียนเรื่องวัยเด็ก วันวานที่ท่าช้าง เขียนถึงเรื่องพี่น้อง ครอบครัวเรา มีรังสรรค์ (ธนะพรพันธุ์) มีพี่น้องทุกคน คนอ่านก็ชอบมาก เพราะทุกคนไม่ได้เห็นท่าช้างอย่างที่เราได้เห็น ตอนเด็กพอเห็นทหารม้ามายืนอยู่ที่หน้าประตูวิเศษไชยศรีก็จะวิ่งไปรอรับเสด็จ ตอนเกิดกบฏแมนฮัตตันก็ต้องอพยพไปอยู่บ้านญาติ หรือปฏิวัติเมื่อไหร่เราจะรู้ เพราะทหารจะเอากระสอบทรายมาทำเป็นบังเกอร์แล้วก็เอาปืนกลมาตั้งแถวนั้น

ในเพจส่วนใหญ่เขียนเรื่องท่องเที่ยวกับมุมมองแฟชั่น ฤดูนี้สีไหนอินเทรนด์ บางทีต้องออกไปสำรวจตลาดเอง สมัยก่อนห้างสรรพสินค้าไม่ให้ถ่ายรูป แต่เดี๋ยวนี้แทบจะขอร้องให้ถ่าย เพราะมีนักท่องเที่ยวจีนมาถ่ายรูปส่งกลับไปให้ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงดูว่าจะเอากระเป๋าแบบนี้ไหม หรือไม่ก็เป็นคนขายมารับหิ้วเอง

 

 

มองว่าคนฝรั่งเศสมีนิสัยอย่างไรที่โดดเด่น

คนฝรั่งเศสหยิ่งนะ เขาภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง อาจจะรู้สึกว่าเหนือกว่าประเทศอื่นสักหน่อย เขามี วอลแตร์, ฌอง ฌาค รุสโซ, อังเดร มาลโรซ์ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมในยุคที่อเมริกายังไม่ตื่น เขาก็จะภาคภูมิใจในความเป็นฝรั่งเศส ถ้าจะมีอะไรคล้ายไทยคือเขาเป็นชนชาติที่เสรี ทูต Gerard Costes บอกว่า คนฝรั่งเศสก็เสรีเหมือนคนไทยนะ ไท แปลว่าอิสระเสรี Franc (ฟรองซ์) ก็แปลว่าอิสระเสรีเหมือนกัน แล้วขนาดเนื้อที่ก็ใกล้ก็เคียงกัน จำนวนประชากรก็ใกล้เคียงกัน จะว่าไปนิสัยก็คล้ายๆ กัน คนไทยชอบ sarcastic (ประชดประชัน) คนฝรั่งเศสก็เป็นเหมือนกัน

มีคนเคยพูดว่าคนอเมริกันเป็นมิตร ยิ้มแย้ม เซย์ฮัลโหลไปเรื่อย เข้าถึงง่ายกว่าคนฝรั่งเศส แต่เอาเข้าจริงแล้วถ้าเราเข้าถึงคนฝรั่งเศสได้ เราจะได้คำว่าเพื่อนจริงๆ คนฝรั่งเศสเก็บตัวนิดหน่อย ไม่ได้เปิดรับเต็มที่ แต่พอเราเข้าถึงแล้วเขาจะดีทีเดียว

ในด้านศิลปะ ศตวรรษที่ 18-19 รุ่งเรืองมาก ทุกประเทศมุ่งมาที่นี่ โดยเฉพาะศตวรรษที่ 19 ศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ ที่มี โคลด โมเนต์ (Claude Monet) พวกอเมริกัน-อังกฤษ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาชุมนุมกันที่มงต์ปาร์นาส ที่แซงต์-แจร์แมง-เดส์-เพรส์ ไม่ใช่เฉพาะจิตรกร แต่ยังมีนักคิดนักเขียนอีกมาก

มีนักเขียนอเมริกันคนหนึ่งเขียนว่า วัฒนธรรมฝรั่งเศสตายแล้ว ไม่ได้ส่งออกอีกต่อไปแล้ว ซึ่งคิดว่าไม่ใช่ ทุกอย่างยังรวมอยู่ที่ปารีส แม้กระทั่งเรื่องแฟชั่น ไปดูสถิติช่างภาพที่ไปทำข่าว London fashion week, New York fashion week หรือ Milan fashion week ว่าจำนวนเท่าไหร่ ในขณะที่ทุกคนต้องมา Paris fashion week เพราะที่นี่ต้องสุดยอดจริงๆ ทั้งที่ปัจจุบันดีไซน์เนอร์เก่งๆ ที่เป็นคนฝรั่งเศสมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ ชาวต่างชาติ แต่ถึงยังไงคนพวกนี้ก็อยากมาเป็นดีไซน์เนอร์ของห้องเสื้อฝรั่งเศส

 

ความรุ่งเรืองทางศิลปะยังหล่อเลี้ยงอยู่ในความสนใจของคนฝรั่งเศสยุคนี้ไหม

เยอะมาก เราชื่นชมฝรั่งเศสมาก มีหนังสือการ์ตูนฝรั่งเศสชุดอัสเตริกซ์ (Asterix) เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักรบชาวโกลัวส์ (Gaulois) ในยุคที่ฝรั่งเศสยังเรียกว่า ลา โกล (La Gaule) หนังสือการ์ตูนเขาสอนให้รู้จักประวัติศาสตร์ แล้วช่วงที่หนังเรื่อง คลีโอพัตรา ที่ อลิซาเบธ เทย์เลอร์ เล่นออกฉาย ก็มีตอนอัสเตริกซ์พบคลีโอพัตราและพูดถึงคลีโอพัตราว่า “ถ้าจมูกยาวกว่านี้จะทำยังไง” เพราะมีนักเขียนฝรั่งเศสคนหนึ่ง ลา โรชฟูโกลด์ (La Rochefoucauld) เคยเขียนว่า “ถ้าจมูกของคลีโอพัตราสั้นกว่านี้ โฉมหน้าประวัติศาสตร์ก็จะเปลี่ยนไป” แล้วในการ์ตูนก็วาดคลีโอพัตราจมูกแหลมยาว ทำให้เห็นว่ามีคติพจน์เช่นนี้อยู่

ตอนกลางวันอากาศดีครูก็พานักเรียนออกมานั่งสวนหย่อม ทุกคนเอาข้าวกล่องมา วิ่งเล่นกัน ถึงเวลาครูก็สั่งให้นักเรียนเอากล่องอาหารไปทิ้ง เข้าแถวเดินกลับโรงเรียน เขามีการศึกษานอกห้องเรียน ไปตามรถไฟใต้ดินจะเห็นครูพาเด็กไปไหนมาไหน คนขับรถไฟก็รอให้ครูนับเด็กจนครบถึงจะออกรถ ไม่งั้นเด็กจะหลงอยู่ในนั้น บางทีผู้ปกครองเด็กในชั้นเดียวกันก็ผลัดกันอาสาพาเด็กไปปิกนิก ไปทัศนศึกษา มิวเซียมก็ให้เด็กเข้าฟรี ครูจูงเด็กอนุบาลไปพิพิธภัณฑ์นั่งล้อมวงฟังครูอธิบาย เด็กโตหน่อยก็ไปเที่ยวปราสาท ครูจะแจกภาพร่างคร่าวๆ ของปราสาทแล้วให้เด็กวาดเติมเอง เขามีวิธีให้การศึกษาอบรมเด็ก เรื่องแบบนี้จึงซึมลึกอยู่ในสายเลือด

 

ปารีสเป็นเมืองที่เหมาะกับการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน มองว่ามีการจัดการที่น่าสนใจยังไงบ้าง

คุณภาพชีวิตดี เขาเก็บภาษีเยอะแต่ก็ตอบแทนมาเยอะ มีสวนหย่อมเป็นระยะๆ แล้วมีถนนเส้นหนึ่งเขาห้ามรถวิ่งแล้วเปลี่ยนให้เป็นที่คนเดิน เป็นพื้นที่สีเขียว นายกเทศมนตรีก็โดนด่า เพราะคนขับรถอยากได้ถนน ถ้าใช้ถนนเส้นนี้สามารถขับออกนอกเมืองได้ เขาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต แม่น้ำแซนก็ห้ามคนลงไปว่าย เพราะน้ำไม่สะอาด แต่มีการตรวจสอบน้ำอยู่เรื่อยๆ แล้วพบว่าเดี๋ยวนี้แม่น้ำแซนสะอาดขึ้น ปลาหลายชนิดซึ่งเคยหายไปก็กลับมาแล้ว จึงจัดมุมหนึ่งให้คนลงไปว่ายน้ำในแม่น้ำได้

3-4 ปีหลังมานี้ปารีสแย่ลงเพราะมีมอเตอร์ไซค์เต็มเมือง และมีอุบัติเหตุเยอะมาก ส่วนสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าฮิตนานแล้ว แต่เพิ่งมาบ้ากันปีนี้เพราะเทศบาลเปิดให้เช่าได้ ทีนี้พอคนใช้แล้วเบื่อตรงไหนก็ทิ้งตรงนั้น จอดทิ้งระเกะระกะ แล้วก็มาซิ่งตามทางคนเดินจะชนคนเอา เรื่องนี้เทศบาลต้องจัดการเพราะเป็นปัญหาใหญ่ แต่พออากาศดีคนก็ถีบจักรยานกันนะ อันนี้น่าเอ็นดู

 

ตั้งแต่อยู่มา 17 ปี มองว่าปารีสเปลี่ยนไปไหม

เปลี่ยนแปลงแน่นอน นักท่องเที่ยวจีนเยอะมาก แต่ก็ลดลงตั้งแต่มีผู้ก่อการร้าย ไปห้างสรรพสินค้า ไปร้านแบรนด์เนม โดยเฉพาะ Chanel จะต่อแถวยาวเลย สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือเมื่อก่อนชองเซลีเซส์หรูมาก ต่อมากลายเป็นร้านโลว์คอสมาเปิดแทน ร้านหรูหายหมด คนฝรั่งเศสก็บ่นว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีความเป็นฝรั่งเศสเหลืออยู่เลย เมื่อก่อนจะมีร้านอาหารฝรั่งเศสดีๆ เดี๋ยวนี้ร้านอาหารขายแซนด์วิช เบอร์เกอร์ ถึงเป็นร้านอาหารธรรมดาก็จะบริการแบบจานเดียว ไม่มีเสิร์ฟเป็นคอร์ส ไม่ใช่อาหารฝรั่งเศส เพราะนักท่องเที่ยวอยากรีบกิน รีบไปช้อป เขาก็บ่นกันว่าเดี๋ยวนี้หาความเป็นฝรั่งเศสไม่ได้

 

 

คนที่นี่ภูมิใจในความหรูหรา ความสวยงาม ความละเอียดอ่อน

ใช่ และเขาภูมิใจในความละเมียดละไมของอาหาร มีไวน์รสเลิศสำหรับอาหารแต่ละชนิด มีเนยแข็งนับได้กว่า 300 ชนิด French Cuisine เป็นอะไรที่สุดยอด อาหารฝรั่งเศสจะมีรสชาติมากกว่าอาหารชาติอื่นในแถบนี้ เพราะใส่กระเทียมและใช้ผักหอมพวก aromatic herb เยอะเหมือนอิตาเลียน ฝรั่งเศสจะมีจานเด็ดคือฟัวกราส์ นโปเลียนชอบมากจึงทำให้มันดัง มีการต่อต้านว่าเป็นการทรมานสัตว์ แต่ก็ยังเห็นซื้อกันโครมๆ

ร้านดาวมิชลินหรูๆ เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ได้ เพราะต้อนรับลูกค้าส่วนบนแค่กลุ่มเดียว พอเกิดก่อการร้ายคนกลุ่มนี้ก็หายไป พวกเชฟติดดาวก็ปรับตัว จากมื้อละ 300 ยูโรก็มาทำร้านอาหารธรรมดา มื้อหนึ่งแพงสุด 40 ยูโร คนเดินเข้ามากินเยอะกว่า รายได้ไม่แพ้ร้านอาหารหรู คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่จะเดินดูเมนูอาหารที่ติดหน้าร้านถึงจะเข้าไปกัน ราคานี้ไหวไหม อาหารน่าจะอร่อยไหม ส่วนใหญ่กินอาหารเซ็ต 3 จานจะมีอองเทร่ อาหารหลัก ของหวาน หรือเลือกแค่ 2 จาน ชีวิตคนที่นี่ไม่ได้หรูหรา ยิ่งหน้าร้อนใส่เสื้อสายเดี่ยวไปทำงานเต็มออฟฟิศ ผู้ชายใส่กางเกงเบอร์มิวดา รองเท้าผ้าใบ ยกเว้นพวกทำงานธนาคารหรือนักธุรกิจถึงจะใส่สูท แต่พวกหรูหราแต่งตัวสวยก็มีที่เขต 16 จะเป็นพวกผู้ดีมีเงิน

 

เหตุการณ์ก่อการร้ายส่งผลกระทบต่อปารีสยังไงบ้าง

มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก พอนักท่องเที่ยวหดหาย ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหารแย่ ผลประกอบการลดลงหมดเลย บวกกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น คนก็ออกมากินข้าวตามร้านอาหารน้อยลงแล้วกินที่บ้านแทน เดี๋ยวนี้คนค่อนข้างคิดก่อนใช้เงิน

ตรงบาตาคล็อง เขต 11 ตอนที่มีกราดยิงร้านอาหารแล้วมีคนเสียชีวิต พอวันรุ่งขึ้นคนก็ไปนั่งกินกันเต็มเลย เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และแสดงออกถึงการใช้ชีวิตต่อไป เราต้องไม่ยอมจำนนต่อผู้ก่อการร้ายที่เขาตั้งใจจะทำให้เราหวาดกลัว เราจะแสดงให้เห็นว่าเราไม่กลัว เราจะใช้ชีวิตอย่างที่เราเป็นอยู่ คนฝรั่งเศสเป็นแบบนี้

 

หลังเหตุก่อการร้ายผู้คนมีความหวาดระแวงทางศาสนามากขึ้นไหม เช่นในหลายประเทศที่ผู้คนมองเหมารวมแล้วเกิดการเหยียดศาสนา

ที่ฝรั่งเศสการเหยียดด้วยคำพูดหรือกิริยาเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เอาเป็นเอาตายเลย กฎหมายเขาแรง ตอนนั้น จอห์น กัลลิอาโน ดีไซน์เนอร์อังกฤษที่เป็นดีไซเนอร์ให้ Dior กินเหล้าเมาในร้านอาหาร แล้วไปพูดจาดูถูกสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เป็นยิว ถูกจับปรับไม่รู้เรื่อง จน Dior ต้องไล่ออกก่อนหมดสัญญา หมดอนาคตในฝรั่งเศสไปเลย แต่เขาก็ยังไปทำที่อังกฤษและกลับมาเปิดร้านแถว Le Marais

 

เวลาพูดถึงฝรั่งเศส คนที่ติดตามการเมืองมักจะนึกถึงการปฏิวัติ ความเป็นลิเบอรัล สิ่งเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในคนฝรั่งเศสรุ่นใหม่ไหม

มันอยู่ในสายเลือดของเขาอยู่แล้ว การลุกฮือของนักศึกษาเริ่มมาจากฝรั่งเศส ในเดือนพฤษภา ปี 1968 ต่อต้านระบบการศึกษา ต่อต้านอธิการบดี ต่อต้านสงครามเวียดนาม ไปบุกยึดมหาวิทยาลัย ตำรวจเข้าปราบปราม พอจับติดคุกนักศึกษาก็ลุกฮือทั่วประเทศ ผู้ใช้แรงงานและประชาชนก็เข้าร่วมด้วย เป็นการปฏิวัติการเมืองและสังคมของฝรั่งเศสที่เห็นชัดที่สุด หนุ่มสาวเรียกร้องเสรีภาพในทุกเรื่อง เสรีภาพเรื่องเซ็กส์ การแต่งตัว เมื่อก่อนใส่บิกินี่ได้แค่บางที่ แต่หลังจากปี 1968 อยากจะแต่งอะไรก็แต่ง มีเสรีภาพมาก

ที่ต้องชมคือเสรีภาพสื่อ สื่อฝรั่งเศสมีคุณภาพมาก โดยเฉพาะการตั้งคำถามของนักข่าว เรื่องส่วนตัวก็คือเรื่องส่วนตัว ตราบใดที่ไม่ไปกระทบผลประโยชน์ของประเทศเขาจะไม่ขุดคุ้ย ของไทยนี่คุ้ยแหลกเลย อย่างสมัยฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ มีภรรยาที่แต่งงานออกหน้าออกตา แต่ระหว่างนั้นก็มีภรรยาอีกคนที่อายุน้อยกว่ามากและมีลูกสาวด้วยกัน เขาดูแลบ้านเล็กจนเป็นประธานาธิบดีก็ยังไม่มีใครรู้ จนมีสื่อถ่ายรูปตอนมิตแตรองด์พาลูกสาวไปกินข้าว แล้วบอกว่าลูกสาวควรจะมีที่ยืนในสังคม คนถึงได้รู้ว่าเขามีภรรยาอีกคน แต่ตราบใดที่ไม่กระทบผลประโยชน์ของรัฐก็ไม่มีการขุดคุ้ยอะไรมากไปกว่านี้ อย่างมาครงมีภรรยาแก่ เขาก็ไม่ได้พูดอะไรไปมากกว่านี้

 

 

มีวัฒนธรรมอะไรของฝรั่งเศสที่รู้สึกว่าตัวเองปรับตัวไม่ได้หรือไม่ชอบไหม

ไม่มีนะ คนฝรั่งเศสเป็นคนสุภาพ เขาไม่มี ค่ะ/ครับ แต่พูดลงท้ายด้วย madame/monsieur ตลอด คำขอโทษมีติดมาตลอด เจอกันก็ทักทาย bonjour อะไรๆ ก็ merci จะมีคำพูดดีๆ ติดปากตลอดเวลา เจอกันในลิฟต์ก็อวยพรกันตลอด ใช้ชีวิตช่วงบ่ายให้มีความสุขนะ ตอนเย็นขอให้มีความสุขนะ ใครกำลังทำงานก็ให้กำลังใจ เป็นสิ่งที่น่ารักมาก แต่คนที่ไม่โต้ตอบเราก็มี คราวหลังก็ไม่ต้องทัก

เวลาทำงานกับฝรั่งต้องไม่หงอ ตอนอยู่สถานทูตเจอทูตยืนคุยกับเลขาฯ ไม่มีทางเดินก็แค่บอก excuse me แล้วผ่าไปเลย ไม่เคยย่อตัวเลย แต่ก็มีคนไทยไม่ว่าการศึกษามากหรือน้อยเวลาเดินผ่านจะก้มตัวโค้ง…เขาจะเห็นเราเป็นทาส ไม่ต้องทำ เขาไม่ได้คาดหวังให้เราทำแบบนั้นด้วย มันอาจจะดูน่าเอ็นดู แต่ลึกๆ เขาอาจจะดูถูกเราก็ได้ ฝรั่งมาเล่าว่าเขาไปนั่งโซฟาที่ล็อบบี้โรงแรมห้าดาวในกรุงเทพฯ แล้วพนักงานผู้หญิงคุกเข่าที่พื้นถามว่าจะดื่มอะไรไหม เขาเล่าแล้วหัวเราะนะ เขาไม่ได้ปลื้ม ซ้ำจะคิดว่าคนไทยยึดถือเจ้าขุนมูลนายอะไรขนาดนี้ เดินไม่เคยตัวตรงเลย อยู่กับฝรั่งต้องอยู่ให้เป็น

มีเรื่องเดียวที่ไม่ชอบในฝรั่งเศสคือการนัดหมอ เพราะหมอมีไม่พอ ถ้าเป็นหมอเฉพาะทางรอ 3-6 เดือน ถ้าเร่งด่วนจริงๆ ถึงไปห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล แต่สวัสดิการสังคมระบบดีมาก เสียเงินเยอะก็จริงแต่ได้กลับมาเยอะ หมอที่นี่จะได้แค่ค่ารักษา เขียนใบสั่งยาให้ไปรับยาเองและไม่ได้ให้ยาเยอะ พวกยาแก้อักเสบ ยาสเตียรอยด์ห้ามขายนอกจากมีใบสั่งแพทย์ แต่เมืองไทยขายกันเต็มเลย

 

พออยู่นี่แล้วคิดว่าเมืองไทยน่าจะมีโอกาสพัฒนาเรื่องไหนได้ดีกว่านี้ไหม

ที่นี่รัฐให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมมาก มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ สร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างศูนย์วัฒนธรรมจอร์จ ปงปิดู (Georges Pompidou) เกิดขึ้นเพราะ จอร์จ ปงปิดู เป็นคนที่สนใจวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัยมาก ก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์โมเดิร์นอาร์ตเลย จึงเกิดโครงการนี้ที่มีทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ โรงหนังเล็กๆ และโรงเรียนการแสดง แล้วเขาให้เกียรติคนที่ริเริ่มจึงเป็นที่มาของชื่อพิพิธภัณฑ์นี้ อย่างหอสมุดแห่งชาติ ฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ เกิดขึ้นเพราะ ฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ เป็นคนให้สร้างโดยไม่ได้บอกว่าจะต้องใช้ชื่อฉันนะ เมืองไทยต้องเห็นความสำคัญของวัฒนธรรม เรามีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่เดียว ตอนนี้มีมิวเซียมสยาม มีหอศิลป์กรุงเทพ อย่างน้อยก็มีอะไรให้ดู แต่ควรจะมีอะไรมากกว่านี้

ศิลปินใหญ่ของไทยที่ทำเงินได้เยอะควรมีจิตสาธารณะบ้าง บริจาค 1-2 ภาพให้รัฐไปจัดแสดง ฝรั่งมาเห็นจะได้รู้ว่าของคนไทยก็ขึ้นชื่อ อย่างพิพิธภัณฑ์ปิกัสโซ ภรรยาเขาก็ยกส่วนหนึ่งให้รัฐ ลูกชายโคล้ด โมเนต์ ก็ยกภาพเขียนของพ่อให้รัฐ จึงเป็นที่มาของพิพิธภัณฑ์มาร์มอตต็อง แต่ในไทยลูกหลานศิลปินจะดีใจได้งานไปขายต่อ รัฐไทยก็ไม่ได้สนใจไปทำต่อ หอศิลป์ยังมีข่าวว่าจะเอาไปทำศูนย์การค้า จะเปิดกันแต่ศูนย์การค้า นักธุรกิจใหญ่ๆ มีเงินขนาดนั้น ซื้อภาพเขียนไปเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนก็ได้ ให้เด็กรุ่นใหม่มีอะไรได้ซึมซับ

มีนักแสดงตลกคนหนึ่งชื่อ Coluche เคยลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ไม่กี่เสียง เขาเห็นใจคนจนจึงตั้งมูลนิธิ บอกให้ Jean-Jacques Goldman ช่วยแต่งเพลงให้ใน 1 ชั่วโมง แล้วจัดคอนเสิร์ต เชิญนักแสดงนักร้องรุ่นใหญ่มาร่วมแต่งตัวตลกๆ บรรยากาศอบอุ่น ทำเป็นดีวีดีขาย รายได้ให้มูลนิธิไปซื้ออาหารให้คนยากจน แต่ละปีได้เยอะมาก ได้เห็นความสามัคคีของพวกอาร์ติสต์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาทำอย่างนี้

ตอนปี 1954 อากาศหนาวมากจนคนเร่ร่อนตาย มีนักบวชชื่อ Abbe Pierre ประกาศขอระดมทุนเพื่อช่วยผู้ไร้ที่พักพิง คนมาบริจาคของเต็มไปหมด แล้วเขาเอาไปขายราคาถูก เอาเงินไปซื้อเสื้อผ้าอาหารให้คนไร้บ้านต่อไป บางทีจะมีคนรอรับบริจาคอาหารอยู่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ให้เป็นเงินก็ไม่เอา เขาจะมีการช่วยเหลือกันและกัน มีจิตอนุเคราะห์ซึ่งกันและกันตลอด

 

ชอบอะไรในการใช้ชีวิตที่นี่มากที่สุด

ชอบวิถีชีวิตที่นี่ มันเรียบง่าย ไปไหนก็มีธรรมชาติชาติให้ดู อากาศดี มีนิทรรศการจรให้ดูตลอดเวลา เราเคยเขียนเกี่ยวกับศิลปะ ไปตามดูนิทรรศการ ศึกษาในอินเทอร์เน็ต ซื้อหนังสือมา ไม่คุ้มค่าเรื่องนะ แต่ได้เรียนรู้ จนตอนนี้เหมือนเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถพูดถึงคนนั้นคนนี้ได้

ต้องยอมรับว่าปารีสเป็นเมืองใหญ่ ไม่ใช่ทุกคนจะมีบ้านที่มีสนามกลางแจ้ง ส่วนใหญ่อยู่อพาร์ตเมนต์เล็กๆ อยู่ทั้งวันก็จ๋อย ต้องออกมาเดินเล่นใกล้อพาร์ตเมนต์จะมีสวนหย่อมเล็กๆ ให้เด็กๆ ลงไปเตะบอล ขี่จักรยาน เน้นชีวิตกลางแจ้ง นั่งรับอากาศข้างนอก เห็นคนเดินไปมาก็มีความสุข บางทีก็มีคอนเสิร์ตมาเล่น ที่นี่ดนตรีเปิดหมวกเยอะมาก เดินไปก็เจอคนร้องเพลง ในรถไฟใต้ดินมีคนเล่นดนตรีก็ให้เงิน เพราะเขาให้ความบันเทิงเรา ดีกว่าพวกที่ขึ้นรถไฟมาแล้วบอกว่าฉันตกงานไม่มีที่อยู่ พูดไปแล้วเหมือนเราบ้าฝรั่ง แต่คนจนที่นี่ลำบากกว่าคนจนในไทยที่ชั่วดียังไงก็ยังมีกิน แต่ที่นี่นอนกันข้างทางไม่มีกิน หนาวตายกันทุกปี รัฐพาไปที่พักพิง บางคนก็ไม่ยอมไป ไม่รู้จะแก้ไขปัญหายังไง ความยากจนมีอยู่ทุกประเทศ

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save